

หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าการทำปศุสัตว์ในบ้านเราสร้างผลกำไรได้ไม่น้อย ยิ่งถ้าทำเป็นระบบฟาร์มด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นธุรกิจที่พร้อมจะเติบโตขึ้นและทำเงินได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันอย่างมาก เรานำเข้าเนื้อชั้นดีจากต่างประเทศปีละมหาศาล แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่เนื้อวัวภายในประเทศจะขายไม่ได้ เว้นเสียแต่ผู้เลี้ยงไม่ได้เอาใจใส่และไม่ได้มีองค์ความรู้ในการดูแลวัวมากพอ จนเกิดปัญหาบางอย่างตามมา เช่น วัวเป็นโรค วัวเลี้ยงไม่โต เป็นต้น จากที่ควรจะได้เงินจากการขายวัวเนื้อตัวละ 5-8 หมื่น ก็ต้องยอมลดราคาลงมา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ เราจึงนำเคล็ดลับในการเลี้ยงวัวเนื้อมาฝากกัน ทำอย่างไรถึงกิจการถึงจะรุ่งเรืองรวดเร็ว ลองไปดูพร้อมๆ กันเลย
กลยุทธ์ในการเลี้ยงวัวเนื้อให้ได้กำไรอย่างสม่ำเสมอ
ก่อนอื่นผู้เลี้ยงต้องรู้ว่า การพยายามขายวัวให้ได้ราคาสูงเพียงอย่างเดียวนั้น นอกจากจะขายได้ยากแล้วก็ยังไม่การันตีว่าจะได้กำไรเยอะจริงอย่างที่หวัง เราจะต้องมาให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนทั้งหมดระหว่างการเลี้ยงด้วย ทำทั้ง 2 ประเด็นให้สอดคล้องกัน รับรองว่ายังไงก็ได้กำไรตลอดทั้งปีแน่นอน
1. ในหน้าแล้งค่าอาหารวัวจะแพงมาก นี่เป็นข้อมูลทางสถิติที่มีการรวบรวมมาอย่างเป็นทางการ แนวโน้มของอาหารวัวเนื้อจะมีราคาสูงในหน้าแล้ง เพราะเมื่อไม่มีน้ำ บรรดาหญ้าทั้งหลายก็เติบโตได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นหญ้าแห้งหรือหญ้าหมักก็จะมีราคาแพงด้วยกันทั้งนั้น
2. ต้องมีแผนการผสมพันธุ์ ไม่ใช่ว่าอยากผสมเมื่อไรก็ได้ตามใจชอบ ลูกออกมาผิดฤดูกาลก็จะพาลผอมแห้งแรงน้อยไปอีก จังหวะที่ดีที่สุดคือต้องให้ลูกวัวคลอดช่วงปลายหน้าแล้งที่อาหารกำลังจะอุดมสมบูรณ์
3. เลือกสายพันธุ์ให้เหมาะกับสไตล์การเลี้ยง แม้ว่าในท้องตลาดจะมีการโฆษณาสายพันธุ์วัวที่ดีเลิศขนาดไหน แต่สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยง สภาพแวดล้อมและความพร้อมของผู้เลี้ยงนั่นเอง ดังนั้นอย่าคิดเลี้ยงวัวตามกระแส แต่ให้เลี้ยงตามเป้าหมายของตัวเองเป็นหลัก
4. คัดวัวไม่เป็น อันนี้เป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ หากคนเลี้ยงวัวคัดวัวคุณภาพดีไม่ได้ ก็จะมีโอกาสเสียเปรียบในการซื้อขายค่อนข้างมาก เพราะดูไม่ออก ไม่รู้ว่าตัวไหนดีหรือไม่ดี อีกทั้งยังเป็นการเปิดช่องโหว่ให้มีโรคติดต่อเกิดขึ้นในฟาร์มด้วย เนื่องจากเวลาที่มีวัวบางตัวป่วย คนเลี้ยงก็ไม่รู้ดูไม่ออก สุดท้ายก็เลี้ยงรวมกับวัวตัวอื่นเหมือนเดิม
5. ให้อาหารตามใจอยาก กินอย่างไรก็ให้ผลลัพธ์อย่างนั้น แนวคิดนี้ใช้ได้กับส่ิงมีชีวิตทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่วัวเนื้อ ถ้าเราให้อาหารแบบตามมีตามเกิด อะไรอยู่ใกล้มือก็ให้อันนั้น แบบนี้วัวไม่มีทางสุขภาพดี และไม่มีทางที่จะขายได้ราคา ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าหลักโภชนาการที่ดีของวัวควรเป็นอย่างไร หรือไม่ก็ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญดูก็ได้
6. ไม่จัดการกับกิจกรรมที่ไม่สร้างกำไร เชื่อว่าในฟาร์มแต่ละแห่งจะมีกิจกรรมยิบย่อยมากมาย หลายอย่างก็สร้างกำไรโดยตรง หลายอย่างก็มีไว้ให้อุ่นใจหรือเพียงเพื่อความบันเทิง ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจในทางใดเลย จุดนี้เป็นรูโหว่ที่จะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
7. ระวังความเชื่อของตัวเอง ความเชื่อเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากมากที่สุด และจะน่ากลัวมากหากความเชื่อนั้นเป็นเรื่องที่ผิด คนทำธุรกิจฟาร์มจะต้องระวังความเชื่อของตัวเองให้มาก ต่อให้มีประสบการณ์มาก่อนก็อย่าได้เชื่อว่ามันจะทำเหมือนเดิมได้ตลอดไป ลองฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญดูบ้าง อย่าให้ความเชื่อเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่พัฒนาตัวเองเป็นอันขาด